ฟังให้เข้าใจจนกว่าสามารถที่จะรู้จริงๆ


        ผู้ถาม เราพอจะพิจารณาได้บ้างไหมในชีวิตประจำวัน ในขณะที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด

        สุ. เราฟังอะไร เราฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ใครแสดง ผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริง ถาไม่ตรัสรู้ความจริงอย่างนี้ แสดงอย่างนี้ไม่ได้เลย แม้แต่การเกิดดับของจิต การเกิดดับของรูป จะแสดงได้อย่างไรถ้าไม่ประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่ไปนั่งคิดๆ เอา แล้วก็มาบอกคนอื่นเขาว่าเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแม้สิ่งเหล่านี้มีจริงแน่นอนในชีวิตประจำวันคือขณะนี้กำลังมีด้วย แต่เป็นสิ่งที่รู้ยากมาก ไม่ใช่เล็กน้อยเลย ทั้งๆ ที่กำลังพูดเรื่องจิตเห็น และก็กำลังพูดเรื่องจักขุปสาท แล้วก็กำลังพูดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยากที่จะรู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม เราก็เริ่มที่จะมีความเห็นตามความเป็นจริงว่าเราอยู่ในทะเลอวิชชาหรือเปล่า อวิชโชฆะ ไม่รู้จริงๆ สิ่งนี้ก็ปรากฏมานานแสนนานทุกภพทุกชาติ แต่ก็ไม่รู้เลย ทางตาขณะนี้ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เห็นมีเกิดขึ้นแล้วดับไป สิ่งที่ปรากฏทางตาดับด้วยก็ไม่รู้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่รู้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าคิดถึงว่าเราไม่รู้ทั้งวันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าพอพูดถึงทะเลตามสมมุติ ทุกคนจะคิดถึงน้ำ แต่นั่นเป็นสิ่งที่สมมุติจ่ากสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง กระทบสัมผัสเป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วเราก็จดจำว่าลักษณะนั้นเป็นน้ำ แล้วก็เป็นทะเลที่กว้างใหญ่ ถ้าคิดถึงความหมายของความกว้างไม่สิ้นสุด ขณะนี้ที่กำลังปรากฏแล้วไม่รู้ๆ ๆ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกับทะเลไหม เป็นทะเลที่ยากที่จะรู้ความจริงที่จะพ้นไปจากการจมอยู่ในทะเลไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นโดยมาก เราจะเข้าใจภาษาจากคำที่เราใช้ และเราก็ยึดติดว่าต้องเป็นน้ำถึงจะเป็นทะเล แต่ความจริงถ้าหมายความถึงสิ่งที่กว้าง ใหญ่ ขณะนี้ความไม่รู้กับทะเลที่เราเห็น อันไหนมากกว่ากัน ลองคิดดู ความไม่รู้นานแสนนานมาแล้ว ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว เพราะฉะนั้นธรรมแม้มีจริง ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา การไตร่ตรอง ให้เป็นความเข้าใจของตัวเอง นี่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าไปฟังอะไรก็เชื่อตาม แต่ความจริงไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจอรรถหรือว่าลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ การศึกษาธรรมก็เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่มีจริงตลอดชีวิตทุกภพชาติเป็นธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นฟังให้เข้าใจจนกว่าสามารถที่จะรู้จริง เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง มิฉะนั้นการฟังก็เป็นโมฆะ ฟังไปก็เป็นชื่อเป็นเรื่อง และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ปรากฏไปโดยที่ว่าไม่รู้เลยว่าขณะนี้กำลังพูดถึงสภาพธรรมที่เห็น กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น และสภาพธรรมนั้นกำลังเห็นสิ่งนั้นแล้วก็ดับไป นี่คือการที่จะไม่ลืมว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงซึ่งจะสะสมไปทุกภพชาติ เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่รู้อื่นเลย สิ่งที่กำลังปรากฏไม่เคยรู้ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเอง แต่ลองคิดว่าความยากจะยากสักแค่ไหนจากการไม่เคยฟังเลย ไม่เคยฟังมาก่อนเลย แล้วก็มีโอกาสได้ฟังบ้าง บางคนก็ท้อถอยเสียแล้ว ยากมาก ไม่เข้าใจ พูดอะไรไม่รู้เรื่อง แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงจะไม่รู้ได้ยังไง ค่อยๆ ฟังก็ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่เมื่อท้อถอยตั้งแต่เริ่มต้น และก็เป็นไปตามการสะสม ไปโน่นมานี่ ทำธุรกิจการงานผ่านไป แล้วก็กลับมาสนใจอีก ระหว่างนั้นความไม่รู้มีแค่ไหน กว่าจะแต่ละภพแต่ละชาติ หันไปเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนกว่าจะมีความมั่นคงว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นประโยชน์สูงสุด ไม่มีประโยชน์อะไรเสมอเหมือน เพราะเหตุว่าสามารถที่จะมีความเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งทุกข์ทั้งหมดเกิดเพราะความไม่รู้ความจริงจึงมีความติดข้อง และก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลมากมาย เป็นเหตุให้กระทำกรรมต่างๆ ได้รับผลวิบากต่างๆ ออกจากวงเวียนของกิเลสกรรมวิบากต่างๆ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแม้เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏส่วนหนึ่งที่จริง สิ่งที่จริงก็คือว่าแม้ปรากฏก็รู้ยาก ต้องยอมรับความจริง แต่ว่าไม่ใช่ท้อถอย ตราบใดที่จริง มีหนทางที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากการฟัง เพราะฉะนั้นกว่าการฟังจะมั่นคง เมื่อมั่นคงแล้วสติสัมปชัญญะเกิดหรือเปล่า ต้องมีความต่างของปัญญาระดับฟังเข้าใจกับขณะที่สติระลึกตรงลักษณธของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ลองคิดถึงความจริง ขณะนี้กำลังเห็นสติไม่ได้เกิดใช่ไหม หลงลืมสติก็เห็น แล้วก็ขณะที่กำลังเห็นนี้แหละ สติสัมปชัญญะเกิด จะให้สติไปรู้อยู่ที่ไหน ในเมื่อขณะนี้กำลังมีเห็น หลงลืมสติก็เห็นแล้วก็หลงลืมสติ แต่แทนที่จะหลงลืมสติ มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดในขณะที่กำลังเห็น แล้วสติปัฏฐานจะไปรู้อยู่ตรงไหน ลองคิด กำลังเห็น เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานกำลังรู้อยู่ที่ไหน รู้อยู่ที่เห็น ที่ปรากฏ สั้นมากจากหลงลืมเป็นสติปัฏฐาน ที่รู้เหมือนเดิมปกติ เพราะว่าลักษณะนั้นก็คือเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ความต่างก็คือสามารถที่จะเริ่มรู้ว่าหลงลืมสติต่างกับที่สติเกิด คือกำลังรู้ตรงเห็นกับขณะที่ผ่านไปโดยที่ไม่มีการรู้ ไม่มีการระลึกตรงสภาพที่กำลังเห็น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205


    หมายเลข 10679
    25 ม.ค. 2567