คล้อยตามความเห็นผิด -พฐ.201


        สุ. จิตที่เกิดทางใจสามารถที่จะรู้แข็งนั้นต่อจากทางกายทวาร เราก็รู้ไม่ได้ แยกไม่ออกว่าขณะนี้ที่แข็งกำลังปรากฏเป็นกายทวารวิถีหรือมโนทวารวิถีเพราะความรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นที่จะไปรู้ตทาลัมพนจิตต่อจากชวนะก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่จากการที่ตรัสรู้ และทรงแสดง ก็ทรงแสดงไว้ว่าสำหรับจิตที่ทำตทาลัมพนกิจคือกิจที่รู้อารมณ์ต่อจากชวนะ ถ้าเป็นรูปก็คือรูปนั้นยังไม่ได้ดับไป

        ผู้ถาม อย่างที่ได้ยินมาว่าถ้าเราคบคนไหน เรามักจะคล้อยไปตามคนนั้น แต่อย่างที่บ้านนี่อยู่กันมา ๑๗ – ๑๘ ปี แต่ละคนยังไงก็อย่างนั้น ไม่เห็นมีใครโอนเอนไปทางใครเลย

        สุ. เราคล้อยอะไรไปบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่สังเกตุรสอาหาร คล้อยไหม อยู่บ้านหนึ่งรับประทานอาหารจืดๆ พอไปอีกบ้านหนึ่งก็มีรสมีชาติขึ้นมา มีเปรี้ยวหวานมันเค็ม และถ้าเราอยู่นานๆ เราจะเริ่มพอใจคล้อยตามกัน พอใจในรสอาหารนั้นไหม หรือภาษาที่ใช้ภาษาสมัยใหม่ คนหนึ่งพูด อีกกี่คนพูดตาม คล้อยไหม แม้จะไม่ได้อยู่ใกล้ เพียงได้ยินบ่อยๆ ก็เริ่มใช้ตามแล้ว ตอนแรกก็ไม่ได้ใช้ ได้ยินบ่อยๆ เข้าก็ตามไป

        อ. ประเด็นที่คุณหมอถามมา ก็เลยคิดว่าการที่บางส่วนที่เราเปลี่ยนตามกลุ่มคนหรือสังคมที่เราอยู่ อันนั้นก็ที่ท่านอาจารย์อธิบายมาแล้ว ทีนี้ถ้าบางอย่างที่เราไม่คล้อยตาม อันนั้นหมายความว่าเราเคยสะสมสิ่งที่เราไม่ยอมเปลี่ยนมามากในอดีตด้วย ผมคิดว่าเป็นอย่างนั้น

        สุ. แสดงให้เห็นถึงความคุ้นเคย การคบหาสมาคม อย่างท่านที่ได้ฟังธรรม ก็มาฟังบ่อยๆ คบหาสมาคมหรือเปล่า แล้วก็มีความเห็นตามที่ได้ยินได้ฟังด้วยกันหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

        อ. อย่างผมเองพอคุ้นเคยพวกนิสิตนักศึกษามากๆ ชวนไปรับประทานอาหารอะไรที่เป็นของในวัยเขา พอเราทานไปเรื่อยๆ บางทีเราก็รู้สึกว่าเราชอบทานตามเข้าไปบางอย่างเหมือนกัน

        สุ. ทางรูปเรื่องรสอาหารยังเป็นอย่างนี้ แล้วทางความคิดเห็นก็ลองคิดดูว่าถ้าเราให้ความคิดเห็นมากๆ แล้วคนนั้นก็ไม่ได้พิจารณาก็อาจจะคล้อยตามไปตามความคิดเห็นได้ แต่ถ้าเป็นสัจธรรม (ความจริง) เป็นผู้ที่ไตร่ตรอง แล้วเราจะไม่คล้อยตามความเห็นผิด แต่ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ได้ไตร่ตรอง ได้ยินได้ฟังมาก็อาจจะเชื่อทันที ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นไม่สมควรแก่การจะเชื่อก็เป็นไปได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201


    หมายเลข 10598
    25 ม.ค. 2567