สัจจญาณ


        ผู้ถาม ในขณะที่เสียงปรากฏแล้วก็กระทบ แต่ว่าไม่ได้คิดนึกต่อว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอะไร ได้พิจารณาแล้วก็แยกไม่ออกระหว่างสภาพไม่รู้กับสภาพรู้

        สุ. ทุกคนก็ได้ยินเสียงเป็นประจำ และเสียงก็ดับไปแล้วด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติ ขณะนั้นจะเป็นสภาพของธรรมอะไร รู้หรือไม่รู้ในเสียง รู้ที่นี่หมายความถึงปัญญาใช่ไหม เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเป็นปัญญาหรือเป็นอวิชชาหรือเป็นโมหะ เสียงเหมือนเดิม ได้ยินเหมือนเดิม

        ผู้ถาม ก็เป็นสภาพไม่รู้

        สุ. ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะว่าเสียงเหมือนเดิม แต่ว่าเวลาที่หลงลืมสติก็หมดไปโดยไม่มีการรู้ตรงเสียง เป็นปกติ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่าเสียงเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก ทุกอย่างเกิดแล้วดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นความต่างก็จะต้องรวดเร็วด้วย อย่างขณะที่เสียงเกิดแล้วดับไป ไม่รู้ เวลานี้เป็นอย่างนี้ใช่ไหม เสียงเกิดแล้วดับแล้วก็ไม่รู้ เกิดแล้วดับก็ไม่รู้ แต่เมื่อสติเกิด ผู้นั้นรู้ ด้วยเหตุนี้ประการที่สำคัญก็คือว่าจะต้องรู้ความต่างของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ มิฉะนั้นจะไม่รู้เลยว่าต่างกันยังไง

        ผู้ถาม ขณะที่หลงลืมสติ เรายังพอฟังเสียง และเรารู้ว่าอันนี้เสียงคนพูดเรื่องราวต่างๆ แต่ไม่สามารถที่จะบอกได้ มันไม่ได้เกิดความนึกคิดสืบต่อ

        สุ. อันนี้เป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง แต่ต้องทวนว่าเวลาที่เสียงเกิดแล้วดับ แล้วไม่ได้คิด ถูกต้องไหม

        ผู้ถาม ถูกต้อง

        สุ. แล้วจึงไม่รู้ว่าเสียงอะไรถูกต้องไหม

        ผู้ถาม ถูกต้อง

        สุ. ก็เป็นอย่างนี้ แต่ว่าเวลาที่เสียงเกิดแล้วดับยังไม่ทันคิด ก็มีสติสัมปชัญญะเกิด นี่คือความต่างกันตรงนี้ที่จะรู้ตรงลักษณะของเสียงซึ่งสั้นมาก เร็วมาก แม้ขณะนี้เสียงปรากฏทางโสตทวารคือทางหูแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตมีเสียงที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์สืบต่อ ใครรู้ ขณะที่เสียงเกิดแล้วดับ ไม่ได้ปรากฏอย่างช้าๆ ให้เราเห็นเลย แต่ว่าความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นปัญญาความเข้าใจธรรมต้องละเอียดเหมือนเดิมคือเสียงปรากฏแล้วดับไป ทางมโนทวารเกิดต่อ ยังไม่ได้คิดแต่มีเสียงนั้นเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นสติสัมปชัญญะเกิดจึงรู้ตรงเสียงแม้สั้น และเล็กน้อยแทนการไม่รู้ และการหลงลืม นี่คือการที่จะอบรมเจริญปัญญาขั้นฟังจนกระทั่งเป็นสัจจญาณ เป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่าปัญญาที่จะรู้ก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยไม่ได้คิด และก็จะมีการรู้ตรงลักษณะนั้นหลายวาระก็ได้ แล้วแต่สติสัมปชัญญะเกิด ก็จะรู้ความต่างว่าขณะที่กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์อยู่ คือสติกำลังรู้อยู่ที่เสียง ขณะที่เสียงปรากฏ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการฟังต้องมีปัญญา ขาดปัญญาไม่ได้เลยที่จะเข้าใจถูก เมื่อมีปัญญาแล้วต้องมีวิริยะด้วย รู้ว่าสิ่งนี้ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้อย่างต้องการ อย่างรวดเร็วหรืออย่างมีความไม่รู้ และก็อบรมไป ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แล้วก็ต้องมีสัจจะ ความจริงใจ เมื่อมีความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมที่มีจริง แล้วก็เกิดอย่างที่เรากล่าวถึงเมื่อกี้นี้ เสียงก็ดับไป แล้วก็ไม่รู้ และก็หลังจากนั้นก็เกิดคิด แต่ว่าตอนที่ก่อนคิดแล้วไม่รู้ขณะนั้นเป็นโมหะเพราะเหตุว่าต้องมีชวนจิตเกิดที่จะรู้เสียงนั้น ต่อทางมโนทวารวิถีด้วย เพราะฉะนั้นแทนที่จะไม่รู้ในเสียง ก็มีการรู้ตรงเสียงสั้นมาก เล็กน้อยมาก นี่คือวิริยะ ทั้งสัจจะ ทั้งอธิษฐานคือความมั่นคงที่จะเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงโดยไม่คลาดเคลื่อน หลังจากที่สติเกิด และดับไปแล้ว เราจะรู้ไหมว่าขณะต่อไปอะไรจะเกิด

        ผู้ถาม อย่แน่นอน ทุกอย่างมีชั่วขณะที่กำลังปรากฏ แต่ขณะต่อไปไม่สามารถจะรู้ได้ แต่เข้าใจได้ว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยสิ่งนั้นจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเรื่องกรรม และผลของกรรม เราก็จะย่อมาถึงขณะจิต ไม่นับเป็นเหตุการณ์ยาวๆ แต่ว่าในระหว่างเหตุการณ์ที่เราพูดถึงก็จะต้องมีจิตเกิดดับนับไม่ถ้วน และเราก็จะกล่าวว่าขณะไหนเป็นวิบาก และก็จะรู้ชัดแม้วิบากคือผลของกรรมขณะนั้นก็มีกรรมเป็นปัจจัย กรรมที่ได้กระทำแล้วแม้ว่าดับไปนานแสนนาน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตพร้อมที่จะเป็นกัมมปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม จิตที่กระทำกรรมเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นที่ได้รับผลของกรรม ที่เป็นผลของกรรมก็ต้องเป็นจิตคือเป็นสภาพรู้ ถ้าจิตที่ทำกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิดเท่านั้น ไม่มีปัจจัยให้จิต เจตสิกเกิด ไม่มีผล ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีการที่จะเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดีซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม หรือไม่มีการที่จะได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดีในขณะที่เป็นผลของกุศล ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือสภาพธรรมที่ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริง วิบากจิตขณะไหน ประเภทไหนจะเกิดไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่เมื่อเกิดรู้ว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

        ผู้ถาม จะมีสติเกิดรู้สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปัญญา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นจะมีปัญญาใแต่ความไม่รู้ก็ยังอยู่กับเราตลอด

        สุ. ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน

        ผู้ถาม คนละขณะ

        สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้นอวิชชาจะมีในจิตตราบใดที่ยังไม่ได้ดับเป็ยสมุจเฉท เป็นอวิชชานุสัย เพราะฉะนั้นจึงมีประเภทของอกุศลที่อยู่ในจิต นอนเนื่องอยู่ในจิต ทั้งที่เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต เห็น ได้ยิน เป็นกุศล อกุศล ใดๆ ก็ตาม ยังมีสภาพที่ละเอียดของกุศล และอกุศลที่ได้สะสมอยู่ในจิต

        ผู้ถาม อย่างปัญญาระลึกรู้สภาพของอกุศล อย่างเช่นอวิชชา

        สุ. เป็นยังไงใช่ไหม ที่ถาม ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรม จะรู้ไหมว่านามธรรมใดเป็นอวิชชา ขณะนี้ที่เห็น ไม่ได้มีแต่จิตที่เห็น มีผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก มนสิการเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก นามธรรมทั้งหมดเกิดร่วมกัน จิตเป็นสภาพที่กำลังรู้แจ้งคือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นหน้าที่ของจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น และก็คุณสุกัญญาจะกล่าวถึงผัสสะ หรือเวทนา หรือสัญญา หรือว่าเจตนาอะไรไหม ในเมื่อยังไม่รู้ว่าลักษณะของนามธรรมที่ต่างกันกับรูปธรรมเป็นยังไง ต่อเมื่อรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ลักษณะของนามธรรมใดที่สติระลึก ไม่ใช่ที่เราต้องการรู้ แม้แต่ลักษณะของอวิชชา ไม่ใช่ว่าเราต้องการรู้ว่ามีลักษณะยังไง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199


    หมายเลข 10543
    28 ม.ค. 2567