ความรู้สึกหลากหลาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป


        ผู้ถาม ที่ท่านอาจารย์บอกว่าส่วนใหญ่พวกเราจะติดอยู่ในชื่อ อย่างเช่นความเจ็บกับความปวด อย่างเราไปหาหมอๆ ก็จะถามว่าเจ็บหรือปวด ซึ่งจริงๆ แล้วลักษณะปวดก็มีลักษณะความละเอียดซึ่งแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็คือลักษณะทุกข์ทางกาย

        สุ. คุณสุกัญญาเข้าถึงความหมายของคำว่าขันธ์ไหม แม้แต่เวทนา เพียงแค่ความเจ็บก็ยังต่างกัน หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เลว ประณีต เจ็บกับปวดเป็นทุกข์ทางกายจริง เวทนาขันธ์ แล้วความหมายของขันธ์คืออะไร ไม่ใช่เพียงชื่อที่มานั่งจำ แต่ว่าเมื่อลักษณะนั้นเกิดขึ้น ความต่าง ความหลากหลายของความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกประเภทใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งในอดีตชาติ และอนาคต หรือแม้ปัจจุบัน ก็คือลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งคือความรู้สึก ด้วยเหตุนี้เวทนาความรู้สึกจึงเป็นเวทนาขันธ์ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ เราก็มีเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “ขันธ์”ๆ ไม่ต้องมานั่งจำเป็นชื่อต่างๆ แต่ขันธ์เป็นสภาพที่เป็นเวทนานี้แหละหลากหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ ก็รู้จักขันธ์จริงๆ เมื่อนั้น เพราะว่าแต่ละลักษณะของความรู้สึกก็เกิดขึ้นต่างกัน และก็ดับไป อย่างที่ใครที่ว่าปวดร้าว ไม่ใช่ความรู้สึกทางกาย แต่เป็นความรู้สึกทางใจ ก็เป็นความรู้สึกทุกข์ใจแต่ว่าไม่สามารถที่จะใช้คำไหน ก็เลยใช้คำว่าเหมือนทุกข์ทางกายที่ปวดร้าวเจ็บปวดแต่ไม่ใช่ทางกาย แต่ว่าเป็นทางใจ นั่นก็แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกหลากหลายซึ่งเป็นขันธ์แต่ละขันธ์นั่นเอง เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดก็จะรู้ตัวจริงถึงความหมายของคำว่าขันธ์ซึ่งเกิดแล้วดับไม่กลับมาอีกเลยด้วย ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ต้องเมื่อสติกำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น

        ผู้ถาม เจ็บเป็นลักษณะสภาพธรรมอย่างเดียวกันไหม

        สุ. เป็นความรู้สึกหรือเปล่า

        ผู้ถาม เป็น

        สุ. ปวดเป็นความรู้สึกหรือเปล่า

        ผู้ถาม เป็น

        สุ. คันเป็นความรู้สึกหรือเปล่า

        ผู้ถาม เป็น

        สุ. เมื่อยเป็นความรู้สึกหรือเปล่า

        ผู้ถาม เป็น

        สุ. นั่นคือความหมายของเวทนาขันธ์ เป็นความรู้สึกหลากหลายต่างๆ ไม่ใช่อย่างเดียว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย นี่คือประโยชน์สูงสุดของการได้ฟังพระธรรม คือเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดซึ่งมีสภาพธรรมกำลังปรากฏแล้ว เพียงการฟังให้เข้าใจจริงๆ จะเป็นปัจจัยทำให้รู้ตรงลักษณะซึ่งเป็นปกติแม้เพียงเล็กน้อย นั่นก็คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเป็นอริยสัจธรรม

        ผู้ถาม อาการที่เจ็บๆ คันๆ ผมก็ยังไม่รู้ว่าเป็นรูปหรือนาม

        สุ. สภาพรู้ทั้งหมดเป็นนามธรรม

        ผู้ถาม แล้วถ้าระลึกที่รูปๆ จะเป็นอะไร

        สุ. รูปไม่เจ็บ

        ผู้ถาม เจ็บๆ คันๆ ต้องมีรูปกับนาม

        สุ. ไม่ ทีละหนึ่ง รวมกันไม่ได้ นามจะไปเป็นรูปไม่ได้ และรูปก็จะไปเป็นนามไม่ได้ เวทนาเป็นรูปไม่ได้เลย ถ้าขณะนั้นกำลังเจ็บปวดไม่ได้รู้ลักษณะของรูปใดๆ เลย เจ็บไม่ใช่รูปธรรม เป็นความรู้สึก สภาพรู้ทั้งหมดเป็นนามธรรม ขณะนั้นเจ็บกำลังปรากฏใช่ไหม รู้ตรงเจ็บ

        ผู้ถาม แล้วรูปไม่มีหรือ

        สุ. ขณะที่เจ็บกำลังปรากฏ รูปอื่นปรากฏไม่ได้ จิตเป็นสภาพที่รู้ทีละหนึ่ง รู้อารมณ์ทีละอย่าง จะรู้ทีเดียวหลายๆ อารมณ์ไม่ได้ เจ็บมี คันมี เป็นความรู้สึก

        ผู้ถาม แล้วลักษณะคันเกิดจากกายวิญญาณกระทบอะไร

        สุ. ถ้าเราจะคิดตามที่ได้ศึกษามาคือว่าถ้าไม่มีกายจะคันไหม

        ผู้ถาม ไม่คัน

        สุ. ก็เท่านั้น

        ผู้ถาม แต่ว่าจริงๆ แล้วรูปที่ปรากฏทางกายก็มี ๓ รูป

        สุ. ถูกต้อง

        ผู้ถาม ทีนี้ลักษณะสภาพคันเป็นความรู้สึกที่ปรากฏ

        สุ. เพราะฉะนั้นไม่ใช่รู้ได้โดยกายวิญญาณๆ จะรู้แต่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว นามธรรมทั้งหมดจะรู้ได้ทางใจ แม้ว่าจะเกิดที่กายก็ต้องรู้ได้ทางใจ

        ผู้ถาม สภาพธรรมพ้นจากเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว

        สุ. พ้นจากรูป ๗ รูปในชีวิตประจำวันก็คือนามธรรม

        ผู้ถาม ต้องเป็นการระลึกหรือคิดนึกปรากฏทางใจ

        สุ. ก่อนที่จะรู้ว่าทางไหนต้องรู้ลักษณะนั้นก่อน ไม่ใช่ให้ไปรู้ว่าทางไหน แต่ต้องรู้ว่าลักษณะนั้นมีจริงๆ ไม่ใช่เราเพราะอะไร เพราะเป็นความรู้สึกชนิดหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ

        นิ. เห็นนี่ปรากฏทางตาใช่ไหม

        ผู้ถาม ใช่

        นิ. เห็นเกิดทางจักขุวิญญาณใช่ไหม

        ผู้ถาม ใช่

        นิ. แต่รู้ได้ทางไหน

        ผู้ถาม รู้ได้ทางใจ อย่างนี้ลักษณะของความเจ็บ ความปวด ก็รู้ได้ทางใจ

        สุ. แล้วยังไม่ทันไรจะไปรู้ว่าทางใจ ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไปคิดเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นจะรู้ลักษณะจริงๆ ไหมในเมื่อกำลังคิดเรื่องราวของสิ่งนั้น นี่เป็นความต่างกันของปริยัติกับปฏิปัตติคือถึงเฉพาะลักษณะแต่ละลักษณะ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197


    หมายเลข 10490
    25 ม.ค. 2567