มโนสุจริต


        ผู้ถาม สุจริต ๓ กาย วาจา ยังพอมีศีลจากการฟัง หรือจากการศึกษา ทางใจ สุจริต ๓ ทางใจ อบรมที่จะให้ละคลาย อาจารย์ช่วยบรรยายให้ยาวๆ และก็ลึกซึ้งเพื่อที่จะอบรมให้เกิดสติ และสัมปชัญญะบ้าง

        สุ. กายสุจริต ๓ ทุกคนทราบแล้วไม่ต้องกล่าวถึง เว้นการฆ่าสัตว์ เว้นการถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ เว้นความประพฤติผิดในกาม เป็นอย่างนี้ใช่ไหมสำหรับผู้ที่ศึกษาธรรม ก็หมายความว่าผ่านข้อนี้ไปได้เรื่องของกายสุจริต วจีสุจริต ๔ ไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ผ่านไหม วจีสุจริต ๔ แม้ว่าจะฟังธรรมแล้ว เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องปฏิบัติ ไม่ใช่หมายความว่าฟังวันนี้ ปฏิบัติวันนี้ได้ แต่เป็นเรื่องที่ค่อยๆ สะสมโดยเฉพาะคือต้องเข้าใจจริงๆ และก็เป็นผู้ที่ตรง และจริงใจต่อการที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย ถ้าเป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่ได้ฟังธรรม เห็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ประโยชน์แก่คนที่ฟังทั้งหมดเลย ที่จะไม่ให้เกิดอกุศล เราก็เห็นว่าเราก็ควรที่จะน้อมนำที่จะมีวจีสุจริตด้วย บางกาลอาจจะเผลอหรือบางกาลอาจจะบ่อยๆ บางคนอาจจะคิดในใจแต่ยังไม่กล่าวออกมา บางคนคิดแล้วก็กล่าวทันทีเลย แต่ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ ของการที่จะรู้ว่าไม่ควรที่จะมีอกุศลถึงขั้นที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ขณะนั้นก็จะละเว้นทีละเล็กทีละน้อยก็ยังดี แต่สำหรับมโนสุจริตต้องทราบด้วย ถ้าไม่รู้ว่ามโนสุจริตคืออะไร แล้วเราก็พูดแต่ว่ามโนสุจริตแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร แล้วเราจะมีครบหรือมีได้อย่างไร มโนสุจริตก็คือไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของบุคคลอื่น นี่ก็เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นแล้วก็เป็นประโยชน์กับตนเองด้วย แล้วก็ไม่พยาบาท แล้วแต่ว่าความโกรธของแต่ละคน โกรธแล้วจะฝังลึกสักแค่ไหน หรือว่าจะผูกไว้แน่น หลายวันมาแล้วก็ยังไม่ลืม ก็ยังคิดถึง แล้วก็ยังมีความคิดที่จะทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนเพราะความโกรธของตัวเองด้วย นี่ก็เป็นสิ่งที่มองเห็นความน่ารังเกียจของอกุศลธรรมทั้งหมด แต่มโนสุจริตคือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง นี่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าที่มีการกระทำต่างๆ ถูกบ้างผิดบ้างตามการสะสม ถ้าเป็นการสะสมของทางฝ่ายอกุศลก็เป็นไปในทางทุจริต กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมมา ก็จะต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่ายังสะสมอะไรน้อย อาจ จะสะสมการที่ไม่เพ่งเล็งอยากจะได้ของคนอื่น ไม่สะสมความที่จะพยาบาทเพราะว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน แม้ว่าคนอื่นจะทำกรรมที่ไม่ดีกับเรา แต่เรามีกรรมดี เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปเดือดร้อนกับกรรมไม่ดีที่คนอื่นกระทำกับเรา เพราะว่าใครทำกรรมอย่างใดก็ได้อย่างนั้น แล้วเราจะไปคิดที่จะพยาบาทเบียดเบียนเขาไหม ในเมื่อรู้ว่าเขาต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน แล้วความพยาบาทไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเก็บให้มีมากๆ เลย เพราะเหตุว่าเป็นทุกข์ในขณะที่เกิดขึ้นด้วย แล้วสำหรับความเห็นถูกต้อง มโนสุจริต ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม เราจะมีสุจริต ๓ เพียงบางส่วน แต่ขณะที่ได้ฟังพระธรรม ปัญญาจะทำให้เป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งชีวิตข้างหน้าให้เป็นไปตามความเข้าใจถูก แต่เป็นเรื่องที่มองเห็นอวิชชา และยากแสนยากเหลือเกินที่จะค่อยๆ ละคลายอวิชชาได้เพราะว่ามากจนกระทั่งไม่รู้เพราะปิดบัง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194


    หมายเลข 10443
    25 ม.ค. 2567