รู้ด้วยสติและปัญญา


        ท่านอาจารย์ ก็ขอพูดถึงเรื่องความละเอียด เพื่อทุกท่านจะได้พิจารณา ขณะนี้มีแข็งปรากฏ นี่แน่นอน ใช่ไหมคะ ทุกคนรู้ เด็กเล็กๆ รู้ไหมคะว่า มีแข็งปรากฏ ถ้ากระทบสัมผัส ก็รู้ นี่ก็คือต้องมีสภาพที่กำลังรู้แข็ง แข็งจึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีสภาพรู้แข็ง แข็งจะปรากฏไม่ได้เลย แม้แต่แข็ง แข็งกับแข็งกระทบกันอย่างนี้ ก็ไม่มีสภาพรู้ว่า แข็ง แต่แข็งจะปรากฏต่อสภาพที่รู้แข็ง

        เพราะฉะนั้น ย้อนกลับไป ขณะใดที่แข็ง มี ปรากฏ ขณะนั้นมีสภาพที่กำลังรู้แข็ง นี่แน่นอน เป็นนามธรรม จึงสามารถรู้แข็งได้ แล้วถ้ามีคนบอกในขณะนี้ว่า ให้รู้ลักษณะของแข็ง ถ้ามีคนบอกให้รู้ลักษณะของแข็ง แล้วก็คนนั้นก็พยายาม คืออยู่ที่แข็ง แล้วก็ให้รู้ลักษณะของแข็ง บางคนเขาไปจับอะไรตั้งหลายอย่างเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของแข็ง ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

        นี่คือความละเอียด ไม่เป็น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อมีลักษณะแข็งปรากฏ แล้วรู้ตรงลักษณะแข็ง แล้วจะเป็นสติปัฏฐานทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับปัญญาในขณะนั้นว่า ผู้ฟัง เข้าใจถูก แล้วก็รู้ว่า ลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เกิดมีเหตุปัจจัย แล้วก็เวลาเกิด ขณะนั้นก็จะศึกษา เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งละเอียดกว่าเพียงขั้นศึกษา วินัยก็ตาม หรือพระสูตรก็ตาม เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก แล้วการศึกษาจริงๆ ก็คือว่า มีลักษณะของสภาพธรรมให้ศึกษาโดยระดับขั้นที่สติปัฏฐาน ซึ่งจะต้องเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ต้องเป็นปัญญาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น จึงสามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ทีละเล็กทีละน้อย

        เพราะฉะนั้น ถ้าบอกเด็กที่กำลังรู้แข็ง บอกให้จับแน่นๆ แข็งเป็นอย่างไร อยู่ตรงนั้นไม่ต้องให้คิดตรงอื่น เด็กก็จับได้รู้ได้ แต่ไม่มีปัญญา แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า ขณะนั้น เป็นอะไร ก็ยังคงเป็นตัวเด็ก ไม่ใช่เป็นผู้ที่ฟังเข้าใจว่าเป็นสติ เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะที่เป็นโสภณ เป็นฝ่ายดี ที่ระลึกได้ในทางที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะในขั้นของทานที่เราให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น ซึ่งเคยคิดว่าเป็นเรา แต่ถ้าสติขั้นทานไม่เกิด ขณะนั้นจะไม่มีการให้เลย หรือการวิรัติทุจริตก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เรา แต่เพราะสติเจตสิกเกิด จึงมีการระลึกเป็นไปในศีลที่จะวิรัติทุจริต

        ก็มีคนที่เขาชอบเรื่องของแมว ที่เอื้อมมือไปที่จะหยิบหรือจับปลาทอด แล้วเสร็จ แล้วก็หดมือกลับ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน สภาพธรรมที่เกิดขึ้นที่วิรัติทุจริต ไม่วาจะเป็นสัตว์บุคคลใดทั้งสิ้น รูปร่างต่างกัน เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ แต่สภาพของจิตที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี

        เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความจริงว่า สติระดับขั้นศีลเกิดขึ้น ทำให้วิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา แล้วก็มีศีล คือ การประพฤติสุจริตทางกาย ทางวาจาด้วย แล้วขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ไม่สงบ ก็รู้ว่าสิ่งนั้นก็คือ สภาพธรรมที่ไม่ควรจะสะสม เพราะเหตุว่าถ้าขณะใดที่มีความโกรธขุ่นเคือง สะสมความโกรธ ความขุ่นเคืองต่อไป มากๆ วันหนึ่งก็จะเป็นคนขึ้โกรธ เห็นอะไรก็โกรธ ถ้ามีปัญญาอย่างนั้นก็สามารถที่จะละความไม่สงบของจิตได้ อาจจะมีความเมตตา หรือว่า แล้วแต่ว่ากุศลระดับใดจะเกิด ขณะนั้นก็เป็นสติ แต่ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

        เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานไม่ใช่เพียงใครสั่ง ใครบอก ทำตามบอก ทำตามสั่ง ไม่ใช่ปัญญาของคนนั้นเลย แม้ว่าขณะที่กำลังฟังในขณะนี้ก็ตาม ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับให้การสะสมของแต่ละคนที่ได้สะสมมา แล้ว มีความเข้าใจถูกผิดมากน้อยประการใด เพราะเหตุว่าแม้แต่ว่าเป็นหนังสือพระไตรปิฎก และอรรถกถาด้วยกัน แต่ว่าเข้าใจผิด คิดผิดได้ ตามสิ่งที่ได้ฟัง เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้สอบทาน หรือว่าไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองโดยละเอียดกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงด้วย

        เพราะฉะนั้น การฟังต้องฟังละเอียด ไม่ใช่สติปัฏฐาน คือ ขณะที่กำลังระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏมีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏให้สติระลึก เพราะเหตุว่าเด็กๆ ก็ทำได้ อยู่ตรงแข็งได้ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

        เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ซึ่งถ้าผู้นั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเพื่อรู้ ความจริง แล้วจึงจะละความไม่รู้ได้ ไม่ใช่ไปละความไม่รู้ โดยไม่รู้อะไรเลย หรือว่าจะไปละกิเลสทั้งหลาย โดยไม่รู้อะไรเลย ก็ไม่ได้ แล้วหนทางที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทรงแสดงทั้งหนทางผิด และหนทางถูก มีมิจฉามรรค ๘ ด้วย มีสัมมามรรค ๘ ตรงกันข้ามกันเลย

        เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ โดยละเอียดจะรู้ไหมว่า มรรคไหน เป็นมรรคที่ผิด เป็นมิจฉามรรค และมรรคไหนเป็นมรรคที่ถูกต้อง ฟังเผินๆ ไม่ได้เลย แม้แต่คุณณรงค์จะฟังเรื่องขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็จะต้องมีความรู้ขั้นต้นพอสมควรที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า เป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ใช่สติปัฏฐาน

        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น สามารถกล่าวเช่นนี้ได้ไหมครับท่านอาจารย์ว่า ความรู้ความเข้าใจในขั้นการฟัง จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่สติปัฏฐาน จะเกิดได้ในโอกาสต่อไป

        ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ เพราะเหตุว่าขณะนี้ที่กำลังฟัง ความเห็นถูกขั้นการฟัง จะทำให้เกิดภาวนามยปัญญาได้ ถ้าไม่มีความรู้ขั้นฟัง สุตตมยญาณ จินตามยญาณก็ไม่มี ภาวนามยญาณก็ไม่มี แต่ขณะที่มี ต้องมีความเข้าใจถูกว่า ไม่ใช่เราขั้นคิดได้ แต่ว่าไม่ใช่เราจริงๆ ขั้นประจักษ์แจ้ง ต้องเป็นอีกระดับหนึ่ง

        เพราะฉะนั้น ก็จะคิดว่าพระพุทธเจ้าทรงประมวลความคิดต่างๆ แล้วก็ทรงแสดงธรรม แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ขณะที่ตรัสรู้ ไม่มีคำใดๆ เลย แต่สามารถที่จะใช้คำบัญญัติทั้งหลายประกาศลักษณะของสภาพธรรมให้แจ่มแจ้ง ให้บุคคลอื่นสามารถที่จะรู้ได้ ด้วยพระปัญญาที่เหนือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น


    หมายเลข 10420
    9 ม.ค. 2567