ต้องรู้กำลังของตัวเอง ๑


        คุณอดิศักดิ์ อาจารย์เคยพูดว่า การฟังธรรมะต้องคอยเตือนตนเองเสมอว่าวัตถุประสงค์คืออะไร วัตถุประสงค์ในการฟัง เราลืมเรื่องวัตถุประสงค์ในการศึกษาธรรมะอยู่เรื่อย เพราะเราไปมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างอื่นกันส่วนใหญ่แทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ต้องนึกถึงความประสงค์ เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก่อนจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ต้องเพื่อรู้สภาพตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้นๆ แล้วมันก็จะค่อยๆ ไม่ยึด ไม่ถือ อะไรอย่างที่ตามวัดสอนกันทั่วไปว่า อย่าไปยึดถือ อย่าไปยึดมั่น ถือมั่น แล้วมันก็จะทุกข์น้อยลง อะไรอย่างนี้ ความจริงธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นอนัตตา จะไม่ยึดไม่ถือ ก็ต้องรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิจ หวาดเสียวอยู่เป็นนิจ ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าแสดงไว้หลายแห่ง เพราะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงหวาดเสียวอยู่เป็นนิจ จึงสะดุ้งอยู่เป็นนิจ จริงไหมละครับ ถ้ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นเพียงสภาพธรรมเท่านั้น เป็นเพียงรูปธรรมนามธรรม ทางตาก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เราเห็น เป็นจิตที่เห็น อันนี้ก็รู้ขึ้น รู้ขึ้น รู้ขึ้น อย่างคำถามที่คุณกุลวิไลถามเมื่อกี้นี้ จริงๆ มันไม่ใช่เป็นคำถามที่นานๆ ถามครั้ง ควรจะถามบ่อยๆ ควรจะถามบ่อยๆ แล้วก็ท่านอาจารย์ก็ได้ตอบ ตอบ แล้ว ก็ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ แล้วก็ต้องอบรมไปทีละเล็กละน้อย ไม่มีการติวเข้ม

        ผู้ฟัง คือผมอยากจะขออนุญาตเพิ่มเติม เนื่องจากคำสอนของพระองค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันยาก ก็เลยมีคนคิดอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา จากเถรวาทเป็นมหายาน เป็นอาจาริยาวาท อะไรต่างๆ สารพัดอย่าง เพื่อให้มันง่าย มันเข้าใจ ทีนี้ผมก็กลัวว่า พวกเราที่อ่านไปๆ แล้วยาก ก็จะกลับไปหาสิ่งที่มันง่ายๆ แล้วก็ง่ายกว่า เข้าใจง่ายกว่า ผมกลัวว่า พวกเราจะเสียเวลา เสียโอกาส

        ทีนี้มันก็กลับมาสู่ปัญหาอีกว่า ทำอย่างไร ถึงจะอดทน ทำอย่างไรถึงจะสู้ไปได้ ถึงจะเหมือนอาจารย์อดิศักดิ์ที่บอกว่า หู ตา จมูก ก็สำคัญ ถึงได้อ่านบ่อยๆ คือ บางทีอ่านไป แล้วมันยาก ตามันจะหลับท่าเดียว มันไม่ไหวจริงๆ พระไตรปิฎก ผมเต็มตู้อยู่ อ่านไปได้ไม่ถึง ๔ เล่ม ๕ เล่มใน ๔ - ๕ ปี ๑๐ ปี แล้วอย่างนี้เป็นต้น ช่วยกรุณาอย่างไรให้พวกเรา ไปในทางที่ถูก ได้พระธรรมที่ถูกต้อง ได้วิชาการที่ถูกต้อง อาจารย์ก็คงตอบอย่างเก่าว่าฟังไป ฟังไป ผมทายว่าอย่างนั้น

        ท่านอาจารย์ ก็ลองคิดถึงความจริงว่า พระธรรมทุกคนก็กล่าวเมื่อกี้นี้ว่ายาก แล้วก็อยากจะถึงเร็ว มันเป็นอย่างไร ก็ค้านกัน แล้ว ใช่ไหมคะ ยากแสนยาก พูดอย่างนี้ แต่อยากจะถึงเร็ว เพราะฉะนั้น โลภะเป็นสิ่งที่เห็นยากว่า มีอยู่ประจำ แล้วติดข้องในทุกอย่าง เว้นโลกุตตรธรรม ติดข้องในกุศลทุกขั้นเลย บางคนคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็ไปทำกุศลเสีย ก็จะได้ดีกว่าเป็นอกุศล หรืออะไรต่างๆ ก็ แล้วแต่จะคิด แต่ถึงกุศลใดๆ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจธรรมะ และออกจากสังสารวัฏได้

        ที่จริง แล้วก็ไม่ใช่จะเร่งรัดใครให้ออกจากสังสารวัฏ หรือว่าไม่ใช่จะเร่งรัดใครให้เห็นทุกข์ เพราะว่าทุกคนมีทุกข์ แต่เป็นเรา เพราะฉะนั้น ทนทุกข์ต่างๆ เหล่านั้นได้ ทนมา แล้วกี่ชาติ กองกระดูกในแผ่นดินนี้ที่เป็นปู่ย่าตายาย เป็นของเราเอง ที่ทรงแสดงไว้ก็มากมายมหาศาล เราก็ทนกันมาเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่สามารถจะรู้ความจริงได้

        เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจว่ายาก ทำไมไม่รู้กำลังของตัวเองว่า ตอนนี้ยังไม่มีกำลังพอที่จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างรวดเร็วเลย แต่อาศัยการที่ฟังพระธรรม แล้วเข้าใจขึ้น แล้วก็เป็นผู้ที่มีปกติรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่สะสมมาตามความเป็นจริง สะสมมาตามความเป็นจริงของแต่ละคน วันนี้ทำอะไรบ้าง ตื่นมา มีใครดูโทรทัศน์บ้างคะ มีใครอ่านหนังสือพิมพ์บ้างหรือเปล่า มีใครสนทนากันโทรศัพท์ถามข่าวคราวใครหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมะทั้งหมด แล้วไม่ใช่ว่า ให้เราไปบีบ ไม่ให้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ให้เคร่งครัด ให้อ่านพระไตรปิฎก ๑๒ ชั่วโมง หรือว่าให้สนทนาธรรมกันอย่างนั้น ไม่ใช่เลย เป็นการที่จะรู้กำลังของตัวเองว่า เมื่อเริ่มเข้าใจธรรมะ ย้อนกลับไปแสนโกฏิกัป เราสะสมมามากน้อยแค่ไหน สะสมอะไรมา เครื่องพิสูจน์คือว่า ถ้าสะสมมาเหมือนอย่างท่านพระสารีบุตร หรือว่าเหมือนอย่างพระอริยบุคคลในกาลสมบัติที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน เครื่องพิสูจน์ก็คือว่า สามารถจะเข้าใจสภาพธรรมะในขณะนี้ตามความเป็นจริง ละคลายความเป็นเราจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อไรที่ละคลายความเป็นเราไม่มีเครื่องกั้นเลย สภาพธรรมะปรากฏตามความเป็นจริง คือเกิดดับ แล้วปัญญาก็จะอบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งบางท่านในเวลา ๖๐ ปี บางท่านในเวลา ๑๒ ปี บางท่านในเวลาไม่นานเลย ทันทีที่จบพระเทศนาก็สามารถที่จะรู้ได้


    หมายเลข 10383
    9 ม.ค. 2567