เกี่ยวเนื่องกันทั้ง ๓ ปิฎก


    บง   กราบท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพ  และท่านวิทยากรทุกท่าน สำหรับที่พูดกันว่าจะต้องเรียนอะไรก่อน หรืออะไรอย่างนั้น ในความคิดเห็นของดิฉัน ถ้าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรทุกอย่าง มันก็อบรมได้ ตรงนี้เป็นอย่างนี้จริงหรือเปล่าคะ ท่านอาจารย์คะ

    ส.   คือการศึกษาธรรมะให้ทราบว่าเพื่อรู้ธรรมะที่มีจริงๆ ก็ทั้ง ๓ ปิฎก เพราะว่าแม้แต่ในพระวินัยก็พูดถึงเรื่องกาย วาจาของทุกคน พระสูตรก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม  โดยนัยยะประการต่างๆ โดยโวหารเทศนาบ้าง แต่ว่าสำหรับพระอภิธรรมก็คือ กล่าวถึงสภาพธรรมะที่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจถูกในความหมายของคำว่า “ธรรมะ” ในพระวินัยก็มีธรรมะ ในพระสูตรก็มีธรรมะ พระอภิธรรมก็เป็นข้อความเรื่องของธรรมะด้วยทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีความต่างกัน เพราะว่าจริงๆ แล้วเรื่องของการรู้และการละ หรือการขัดเกลากิเลสต้องทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจด้วย

    บง   อนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์ต่อ จากหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องที่โลกสว่าง ที่กล่าวว่า เฉพาะพุทธบริษัทที่ได้ฟังพระธรรม หมายถึงได้ฟังแล้วก็อบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ตรงที่ว่าอบรมเจริญปัญญาจนรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะเริ่มต้นอย่างไรคะ

    ส.   ขณะนี้กำลังอบรมด้วยการฟัง ถ้าไม่มีการฟังไม่มีความเข้าใจเป็นเบื้องต้น ปัญญาต่อไปก็เจริญไม่ได้

    บง   ตรงนี้จะเกี่ยวกับการเริ่มต้นอบรมเจริญสติปัฏฐาน ใช่ไหมคะ

    ส.   ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องใดเลย คิดถึงความเข้าใจ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมะก็จะเจริญขึ้น เมื่อมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ย่อมนำไปสู่กายวาจาและการประพฤติที่ถูกทั้งหมด แม้ในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาก็ถูก

    บง   แล้วการอบรม มันจะเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไร

    ส.   ถ้าไม่มีการได้ยินขณะนี้จะอบรมอย่างไรคะ

    บง   เข้าใจ แล้วทุกอย่างที่ปรากฏก็เป็นธรรมะ

    ส.   ก็คงต้องตั้งต้นที่การศึกษาสภาพธรรมะ คือ พระอภิธรรม แต่พระไตรปิฎกที่เป็นพระอภิธรรมปิฎกไม่สามารถที่จะอ่านเข้าใจได้ ถ้าไม่มีพื้นฐานความรู้ปรมัตถธรรมมาก่อน เพราะว่าในครั้งโน้นทรงแสดงพระธรรมกับบรรดาผู้รู้ในกาลสมบัติ  มีผู้ที่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยไม่นาน แต่ว่าสำหรับในยุคนี้สมัยนี้ก็เป็นยุคที่แต่ละคนก็พิสูจน์ได้จากตัวเอง แล้วก็สิ่งที่ได้ยินได้ฟังต้องฟังแล้วฟังอีก จนกระทั่งมีความเข้าใจระดับขั้นของการฟังเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเหตุว่าถ้าจะเป็นผู้ที่ประมาท คิดว่าฟังแล้ว วันนี้เข้าใจแล้ว จบ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าสภาพธรรมะจริงๆ ลึกซึ้งมาก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของชีวิตประจำวัน เรื่องของสภาพธรรมะธรรมดาที่สุด คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จากการตรัสรู้ความลึกซึ้ง ความเป็นธรรมะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว โดย ประการต่างๆ โดยปัจจัยต่างๆ

    นี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า ปัญญาของผู้ที่เริ่มจะฟังหรือว่าเริ่มจะศึกษา เข้ามาถึงพระศาสนาเพียงเล็กน้อยในขั้นต้น ยังจะต้องติดตามต่อไป ฟังเรื่องของสภาพธรรมะ  ต่อไป จนเป็นความเข้าใจจริงๆ ซึ่งละเอียดขึ้น ถี่ถ้วนขึ้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะ แล้วก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็เริ่มอ่านพระไตรปิฎกได้ ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎก ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมะทั้งสิ้น  แล้วก็เป็นความละเอียด โดยประการที่ต่างกัน คือ พระวินัยเป็นความละเอียดในเรื่องของกาย วาจา ที่ละเอียดมาก ซึ่งจะไม่มีในพระสูตรและพระอภิธรรม แต่ในเรื่องของพระสูตรก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมะที่สะสมมามีความวิจิตรหลากหลายของบุคคลต่างๆ ในครั้งพุทธกาล ย้อนไปถึงอดีต คือ ชาติต่างๆ ก่อนที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ประวัติของพระสาวกต่าง ๆ วิจิตรมาก ต่างกันมาก หรือแม้แต่ทุกคนในวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น คือไม่มีการซ้ำเลย สำหรับคนหนึ่งๆ และในคน หนึ่งๆ ในวันหนึ่ง ๆ ก็ไม่ซ้ำกันอีก ก็เป็นเรื่องความวิจิตรของขณะจิตซึ่งเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวโดยนัยยะของโวหารเทศนาก็มีความวิจิตรมาก แต่ความลึกซึ้งของพระอภิธรรม แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะเพียรฟัง แล้วก็อบรมความรู้ความเข้าใจขึ้น แต่ปัญญาก็มี ๓ ระดับ คือ ปัญญาที่เกิดสำเร็จจากการฟัง คือ ฟังแล้วไตร่ตรอง จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ในสภาพธรรมะ ในหนทางอบรมเจริญปัญญา ก็รู้ว่า นั่นเป็นขั้นของสัจญาณ เพราะเหตุว่าเราได้กล่าวถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่เราได้ยินบ่อย ๆ อริยสัจ ๔ ซึ่งชาวพุทธทุกคนก็คงจะได้ยิน แล้วในหนังสือตำราเรียนสมัยเด็กก็มี แต่ว่าแสดงไว้เพียงชื่อ เช่น ทุกขอริยสัจจะ ได้แก่สภาพธรรมะซึ่งเกิดดับเป็นทุกข์  เราก็รับฟังมาเท่านั้น แต่ว่าขณะนี้สภาพธรรมะก็เกิดดับเป็นทุกข์ โดยที่ว่าเราก็เพียงพูดว่า สภาพธรรมะไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่เที่ยง แต่นั่นยังเป็นขั้นที่หยาบมาก เพราะว่าไม่เที่ยงจริงๆ ต้องเป็นในขณะที่สภาพธรรมะหนึ่งสภาพธรรมะใดปรากฏ เพราะเกิดแล้วดับสืบต่อกันในขณะนี้ แล้วก็นั่นเป็นเพียงอริยสัจที่ ๑ ซึ่งถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีปัญญาซึ่งเป็นสัจญาณ เป็นปัญญาที่มีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ว่า สิ่งที่มีในขณะนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ๔๕ พรรษา ก็เพื่อที่จะให้พุทธบริษัทได้ศึกษา ได้เข้าใจ ได้ประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะถึงความเป็นพระอริยสาวกได้ ไม่อย่างนั้นการฟังก็ไม่มีประโยชน์เลย ฟังมาเท่าไร ๑๐ ปี ๒๐ ปี ถ้าไม่ใช่เพื่อเป็นการอบรมปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมะในขณะนี้ตามความเป็นจริงในวันหนึ่งวันใด การฟังเหล่านี้ก็ไม่มีประโยชน์

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การฟังที่เริ่มมีศรัทธา  มีความสนใจแล้วก็ที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป ก็คือว่า เข้าใจความจริงของสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็ไม่ทิ้งความเข้าใจนั้น แล้วก็จะต้องตรงต่อความเข้าใจนั้นว่า เมื่อสภาพธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วดับไป ก็จะถึงการอบรมเจริญปัญญาระดับที่สามารถจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมะ  รู้แจ้ง ลักษณะของนิพพาน แล้วก็รู้ว่า หนทางนี้แหละที่ได้เดินมาแล้ว ดำเนินมาแล้ว ตั้งแต่เริ่มอบรมจนกระทั่งมีความเห็นถูก จนกระทั่งมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้อริยสัจธรรมได้

    นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวเนื่องกันหมด ทั้ง ๓ ปิฎก


    หมายเลข 10382
    18 ก.ย. 2558