หมดความสงสัยในความหมายของคำว่าธรรม -พฐ.186


        สุ. เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้รู้ว่าจิต ๑ ขณะก็เกิดสืบต่อมาจากขณะก่อน รู้ปฏิจจสมุปบาทหรือเปล่า ปฏิจจสมุปบาทคือธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพียงแต่รู้ว่าจิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดไม่ได้ ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต ปรุงแต่งให้จิตเกิด เป็นปัจจัยต่างๆ กัน แล้วแต่สภาพของเจตสิกนั้นๆ ขณะนั้นถ้ารู้อย่างนี้ รู้ปฏิจจสมุปบาทหรือเปล่า บางคนอาจจะคิดว่านี่ไม่ใช่ปฏิจจสมุปบาท แต่ธรรมทั้งหมดในสังสารวัฏที่จะพ้นจากปฏิจจสมุปบาทมีไหม ถ้าศึกษาด้วยความเข้าใจก็จะเข้าใจว่าไม่มีเลยแต่ว่าเมื่อไปอ่านเพียงหัวข้อแล้วก็คิดว่าจะต้องเริ่มอย่างไร ผ่านไปอย่างไร สิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี สิ่งนั้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มีก็คิดว่าต้องเป็นอย่างนั้นจึงรู้จักปฏิจจสมุปบาท แต่ไม่ใช่ ความเข้าใจธรรมละเอียดขึ้นซึ่งจะทำให้ค่อยๆ เป็นปัจจัยสะสมที่เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ความเข้าใจที่ได้สะสมมาแล้วก็สามารถที่จะคลายความติดข้อง เพราะมีความรู้ตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมนั้นเพิ่มขึ้น นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าการศึกษาพระธรรมเป็นการศึกษาธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้โดยอาศัยการบำเพ็ญพระบารมี ที่จะทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และก็ทรงแสดงให้เราเข้าใจ แต่ความเข้าใจของเราเมื่อได้ฟังพระธรรมแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ และความเข้าใจ หนทางที่เข้าใจถูกไหม หรือว่าไปเข้าใจเรื่องราวอื่นๆ โดยที่ว่าไม่รู้เลยขณะนี้แม้แต่คำว่าจิตสะสม แล้วก็ต่างกันไปตามการสะสม ขณะนี้สงสัยไหม

        ผู้ถาม สงสัย

        สุ. นั่นก็แสดงว่ารู้จักจิตนี้ใช่ไหม ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรียนเรื่องชื่อแต่การที่เราจะบอกว่าสงสัย ก็ยังคงเป็นชื่ออยู่นั่นเองตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมก็จะมีแต่ชื่อ และเราก็เก่งในการที่จะจำได้ แต่ว่าสามารถที่จะเข้าถึงสภาพที่เป็นนามธรรมที่ต่างกับรูปธรรมเมื่อไหร่ เมื่อนั้นจึงจะหมดความสงสัยในความหมายของคำว่าธรรม ในความหมายของนามธรรม ในความหมายของรูปธรรม ซึ่งเราจำได้ และเราตอบได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งจะหมดความสงสัยได้ไหม ไม่ได้ นี่เป็นการที่เราจะรู้ด้วยตัวเองว่าการฟังแต่ละครั้งสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกจนกระทั่งถึงการที่สติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ยังจะค่อยๆ อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมนั้นจนกระทั่งสามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องละเอียด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะคิดว่าเราจะไปทำอะไรเพื่อที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรมซึ่งการรู้แจ้งสภาพธรรมต้องเป็นปัญญาตามลำดับขั้น ถ้าไม่มีขั้นฟังเข้าใจแล้วละความไม่รู้ขั้นฟังการที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิดก็เป็นไปไม่ได้เพราะยังไม่รู้อยู่ แม้หนทางที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ยังไม่รู้ แต่ถ้ารู้หนทางก็จะเป็นปัจจัยให้มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ ไม่ใช่เพียงชื่อ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186


    หมายเลข 10276
    25 ม.ค. 2567