สะสมความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


        คุณอุไรวรรณ โลภมูลจิตก็ประกอบด้วยโมหเจตสิกด้วยใช่ไหม

        สุ. ค่ะ จริงๆ เราเรียนเรื่องราวในสิ่งที่เรายังไม่รู้เลยมาก อย่างอกุศลจิตเราเรียนถึง ๑๒ ประเภท แต่เรารู้ลักษณะของจิตประเภทหนึ่งประเภทใดหรือยัง คือการฟังธรรมต้องเข้าใจด้วย มิฉะนั้นเราก็จะเรียนเรื่องชื่อ เรียนเรื่องๆ ราวไปทุกชาติแล้วก็ลืมไปทุกชาติด้วย เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นให้เข้าใจว่าขณะนี้กำลังสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีมากมายโดยที่ว่าเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม แต่ศึกษาพระธรรมอย่าไปคิดว่าสามารถที่จะรู้ และจำชื่อ แต่ว่าเป็นการสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ อันนี้สำคัญที่สุด เพราะว่าการที่เราจะสามารถรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม และดับกิเลสได้ ถ้าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย ไม่ว่าเราจะจำชื่อได้มากมายสักเท่าไหร่ก็ตาม แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าขณะนี้กำลังสะสม ใช้คำว่า “สะสม”ๆ อะไร ไม่ใช่สะสมชื่อ แต่สะสมความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ยิ่งสะสมก็จะยิ่งรู้ตามความเป็นจริงว่าแท้ที่จริงแล้ว เรารู้จักชื่อต่างๆ เกินกว่าที่เราจะรู้จักลักษณะของสภาพธรรมนั้น เช่น คำว่า “ธรรม” ขณะนี้ยังไม่ถึงกับกล่าวว่าทุกอย่างเป็นธรรมเมื่อไหร่ ก็แสดงว่าที่เรากำลังค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าสามารถที่จะเข้าใจจริงๆ โดยสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏมิฉะนั้นในขณะนี้เราฟังเรื่องโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ขณะนี้มีครบไหมกำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ กำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรม และรู้ว่ามีจริงๆ และรู้ว่ากำลังมีด้วยแต่ว่าไม่ได้เคยคิดเลยว่าขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นอะไร เพราะฉะนั้นจะเห็นความละเอียด ความลึกซึ้งของทุกคำที่เราได้ยินว่าไม่ใช่สิ่งที่ ถ้าไม่ได้ไตร่ตรอง และไม่เข้าใจจริงๆ แล้วจะชื่อว่าผู้มีปัญญาหรือว่าผู้ที่สามารถจะดับกิเลสได้ ไม่ใช่เลย ต้องเป็นผู้ที่ฟังภาษาอะไรก็ได้ตามที่เราใช้อยู่ แต่ว่าภาษานั้นสามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีปรากฏในขณะนั้น ขณะนี้ก็ทราบเพียงคร่าวๆ ทุกคนมีจิต และก็มีอกุศลจิตมาก แต่ว่าไม่ได้รู้จริงในลักษณะของจิต ในลักษณะของอกุศลจิตที่กล่าวถึง และต่อไปก็จะมีเรื่องจิตต่อไปอีก ก็ไม่รู้อีกใช่ไหม แต่ว่าสามารถที่จะจำชื่อได้ เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมว่าเรากำลังสะสมความรู้ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่เป็นธรรม มิฉะนั้นเราก็จะหลงเข้าใจว่าเราต้องไปปฏิบัติเพื่อที่จะให้ปัญญาเกิด แต่ขณะที่กำลังฟัง และค่อยๆ เข้าใจจนกระทั่งสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือภาวนาหรือว่าการอบรมความรู้ที่สามารถที่จะละความไม่รู้ได้ เพราะเหตุว่าความไม่รู้ๆ ในธรรม ไม่ใช่ไม่รู้ในชื่อ แต่ว่าไม่รู้ในลักษณะความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

        ผู้ถาม กระผมควรจะเข้าใจหรือว่าสะสมความเข้าใจในเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานอย่างไรบ้าง

        สุ. สะสมความรู้ถูก ความเห็นถูกในธรรมเพื่อที่จะเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏละเอียดขึ้น เพื่อที่จะได้รู้จริงๆ ว่าเมื่อปัญญาสามารถแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมใดๆ สภาพธรรมนั้นก็ปรากฏตามความเป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีการที่เราจะไปเจาะจงได้แต่ว่าฟังให้เข้าใจ

        ผู้ถาม ฟังให้เข้าใจว่าลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือควรจะเข้าใจอะไรให้มากกว่านี้ไหม

        สุ. จริงๆ แล้วไม่ใช่ใส่ชื่อ แต่ว่าสามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง โลภมูลจิตไม่ว่าของใครขณะไหนก็เป็นโลภมูลจิต เพราะว่ามีสภาพที่ต้องการติดข้องเกิดร่วมด้วยกับจิตที่กำลังรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น นั่นคือเราใช้คำว่า “โลภมูลจิต” โลภมูลจิตเกิดแล้วก็ดับไป แต่สืบต่อเป็นอนุสัยสะสมอยู่ในจิต เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าแต่ละคนไม่เหมือนกันตั้งแต่เกิดเลย แม้ว่าจิตจะกล่าวไว้เพียง ๘๙ประเภท แต่ว่าความหลากหลายนี่มากมาย เพราะฉะนั้นเวลาฟังพระธรรมให้มีความเข้าใจจริงๆ ว่ามีธาตุซึ่งเป็นนามธาตุ ซึ่งเป็นอนัตตา ใครก็บังคับบัญชาให้เกิดไม่ได้เลย แต่เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย และก็ไม่ได้เพิ่งมาเกิดเดี๋ยวนี้ เกิดมานานแสนนานสะสมมาจนกระทั่งหาต้นไม่ได้ว่านานเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดจะไปรู้สภาพธรรมที่ดับมานานแสนนาน ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้มาจากไหน ก็ต้องมาจากการสืบต่อของจิตขณะก่อน จิตขณะนี้สืบต่อมาจากจิตขณะก่อน จิตขณะก่อนสืบต่อมาอย่างไร ก็สืบต่อมานานแสนนาน นี่เป็นปฏิจสมุปบาทหรือเปล่า คือเราไม่ใช่ว่าไปติดชื่อว่าเราจะต้องมีหัวข้ออันนี้ แล้วก็เรียนให้เข้าใจเรื่องนี้ แต่ว่าถ้าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเป็นความจริงที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกโดยประการต่างๆ หลากหลายที่จะให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้รู้ว่าจิต ๑ ขณะก็เกิดสืบต่อมาจากขณะก่อน รู้ปฏิจสมุปบาทหรือเปล่า

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185


    หมายเลข 10261
    28 ม.ค. 2567