เห็นอย่างนี้ เห็นได้อย่างไร


    ผู้ถาม  ผมเข้าใจว่าอย่างนี้ครับ หลักสำคัญอันนี้ ก็คือหลักของความไม่เที่ยง แล้วก็ศีลทั้งหลาย ที่พูดว่าศีลก็คือเป็นหลักเบื้องต้นที่จะทำให้มีสมาธิ มีปัญญา ทีนี้ถ้ามองเห็นว่า ชีวิตของเรา รูปร่างของเรา สิ่งที่อยู่ทั้งหลายทั้งสิ่งมีชีวิต ไม่มีชีวิตเหล่านี้ มันเปลี่ยนแปลงไป ไม่เที่ยง  เห็นหลักอันนี้ แล้วก็เห็นว่า จิตในจิตก็เหมือนกัน จิตที่คิดต่างๆ นี้ก็ไม่เที่ยง มันเปลี่ยนเหมือนกัน แล้วธรรมในธรรมก็เช่นเดียวกัน ที่อธิบายมาเมื่อตะกี้นี้ ถ้าไม่เห็นสิ่งเหล่านี้  ศีลก็รักษายาก  ความเห็นของผมอย่างนี้ ถูกไหมครับ กรุณาอธิบาย ครับ

    ส.   ข้อสำคัญก็คือจะเห็นได้อย่างไร เห็นอย่างนี้ จะเห็นได้อย่างไร ขณะที่กำลังนั่งแล้วเห็นอย่างนี้ จะเห็นว่าไม่เที่ยงได้อย่างไร

     ผู้ถาม  โดยการเจริญ เริ่มต้นที่คำว่าสติ เพราะว่าในคำสอนเกือบทุกอย่างเลย จะมีสติอยู่ทั้งนั้นเลย

    ส.   เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า สติคืออะไร จะได้รู้ว่าสติจะเกิดเมื่อไร ก็จะมีได้เมื่อไร อย่างไร

    ผู้ถาม  ผมเข้าใจของผมเอง เพราะว่าผมอธิบายตามความเข้าใจผมเอง ขณะที่ผม อยู่นี้ ผมกำลังพูด ผมกำลังหายใจเข้า หายใจออก ผมกำลังกล่าวคำ อะไรนี้ เป็นสิ่งที่สมมุติว่า ตัวผมนี้กำลังกระทำอยู่  นี่ผมเข้าใจว่ามีสติ ถูกหรือเปล่าครับ

    ส.   เพราะฉะนั้น ความเห็นของผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม กับผู้ที่ศึกษาแล้วจะต่างกัน ก่อนที่จะศึกษาพระธรรมก็มีความเข้าใจสติในภาษาไทย  ถ้าเดินไม่หกล้ม มีสติไหมคะ ข้ามถนนรถไม่ชน มีสติไหม เดินถือของไป ไม่หก ถือน้ำ ถืออะไรก็ตามแต่ มีสติไหมคะ ความเข้าใจก่อนที่จะได้ศึกษาธรรมเข้าใจว่า ขณะนั้นมีสติ  เพราะเหตุว่าภาษาไทยเราเอาคำภาษาบาลีมาใช้ โดยที่ไม่ได้ศึกษาว่า คำบาลีที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นเรื่องของธรรมะ เป็นเรื่องของสภาพธรรมะจริงๆ ซึ่งมีลักษณะที่จะใช้คำหลากหลายให้รู้ว่า สภาพธรรมะที่เป็นฝ่ายนามธรรม  คือ จิตกับเจตสิก ไม่ใช่มีแต่จิตเท่านั้น มีเจตสิกด้วย จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ที่มีสิ่งต่างๆ ปรากฏในชีวิตประจำวันทุกวัน เพราะมีจิต ถ้าไม่มีจิต เช่น คนที่ตายแล้ว สิ่งต่างๆ ก็จะปรากฏไม่ได้เลย แต่ที่โลกยังปรากฏทุกวัน เพราะว่าตั้งแต่เกิดจนยังไม่ตาย จิตก็เกิดดับสืบต่อ แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นให้ได้ยิน ซึ่งขณะที่เห็น ได้ยิน เป็นจิตทั้งหมด เพราะเหตุว่ารูปธรรมไม่สามารถจะเห็น ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย  เพราะว่าสภาพธรรมะถ้าแบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ๆ ๒ ส่วน ก็คือ สภาพธรรมะที่เกิด มีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมะนั้น แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เป็นฝ่ายรูปธรรม แม้ว่าจะมองไม่เห็น เช่น เสียง ทุกคนต้องรู้ว่า เสียงปรากฏเมื่อมีการได้ยิน ถ้าขณะใดที่ได้ยิน แล้วจะบอกว่า ไม่มีเสียงปรากฏเลย เป็นไปไม่ได้  หรือขณะที่มีเสียงปรากฏ แล้วจะบอกว่า ไม่มีสภาพที่กำลังได้ยินเสียง ก็ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เสียงเป็นสภาพธรรมะที่มีจริง ไม่สามารถที่จะรู้ จะเห็นอะไรได้เลยทั้งสิ้น เป็นรูปธรรม แต่สภาพที่ได้ยินเสียงก็มีจริงๆ เกิดขึ้นและดับไป ที่ใช้คำว่า ไม่เที่ยง หมายความว่าสภาพธรรมะใดก็ตามที่มีปัจจัยเกิด แล้วต้องดับ

    เพราะฉะนั้น เราจะไม่กล่าวลอยๆ หรือว่าคิดเอาเองว่า สติ ในภาษาไทยก็คืออย่างนี้ อารมณ์ในภาษาไทยก็คืออย่างนี้ แต่ว่าที่ทรงแสดงธรรมะเป็นภาษาบาลี ต้องศึกษาและเข้าใจว่า ทรงแสดงหมายความว่าสภาพธรรมะแต่ละอย่าง เช่นใช้คำว่าจิต ก็หมายความถึงสภาพธรรมะอย่างหนึ่ง ใช้คำว่า เจตสิก ก็หมายความถึงสภาพธรรมะอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะต่างกันเป็น ๕๒ ชนิด เช่น สติต้องเป็นโสภณเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดี นี่เป็นเรื่องที่จะทำให้เราเข้าใจชัดเจน ไม่อย่างนั้นเราก็จะปะปนฝ่ายกุศลกับฝ่ายอกุศล


    หมายเลข 10197
    18 ก.ย. 2558