หลงลืมสติ


    บง   กราบท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านอาจารย์คะ คำว่า “หลงลืมสติ” ดิฉันมีความคิดว่า จะเหมาะกับบางท่านเท่านั้น เพราะเวลาที่พูดคำว่า หลงลืมสติ ดิฉันรู้สึก ตะขิดตะขวงใจ เพราะคิดว่ามันเหมือนกับว่า สติมันเกิดอยู่ตลอด แล้วเราหลงลืม ถ้าเป็นดิฉันอกุศลเกิดตลอด แล้วสติเกิดขึ้น ท่านอาจารย์ว่าผิดกันอย่างไร

    ส.   ถ้าบอกว่า หลงลืมสติเป็นส่วนใหญ่ ล่ะคะ ถูกไหมคะ

    บง   อันนั้นใช่คะ แต่ท่านอาจารย์ว่า หลงลืมสติ ดิฉันรู้สึกว่า มันผิดปกติ  ต้องเหมาะกับบางท่าน กราบขอบพระคุณ

    นิภัทร  คุณบงครับ หนังสือของมูลนิธิเรา ชื่อ “ธรรมเตือนใจแด่คุณประมาท” คุณประมาท คือ คนหลงลืมสติ  คือ ไม่มีสติ สติ อวิปปวาโส แปลว่าอยู่ปราศจากสติ ชื่อว่าประมาท เพราะฉะนั้น คำว่า “หลงลืมสติ” มันเป็นปกติวิสัยของปุถุชนเราอยู่แล้ว ที่ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ก็เป็นผู้หลงลืมสติ  เป็นผู้หลงลืมสติอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น มันก็เป็นคำที่เราไม่ชอบ แต่มันเป็นจริง เป็นจริงตลอดชีวิตของเรา ตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจธรรมะ ไม่ฉลาดในธรรมะ ไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในธรรมะ เราก็ยังจะเข้าใจผิดอยู่ตลอด  ความเข้าใจผิดนี้แหละ คือ หลงลืมสติ ประมาทแน่ๆ

    อดิศักดิ์   เรื่องที่อาจารย์เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาแด่คุณประมาท สาเหตุเกิดจากอย่างนี้ ครั้งหนึ่งมีคนถามคำถามว่า ตอนศึกษาธรรมะใหม่ๆ ก็รู้สึกว่าขยันขันแข็งดี  มีสติเกิดบ้าง ต่อมามันรู้สึกว่า มันเฉยๆ เฉื่อยๆ  มันเป็นเพราะอะไร อาจารย์ก็บอกว่า เกิดจากความประมาท ก็เลยเกิดคำว่า “คุณประมาท” ขึ้นมา  แล้วก็เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพราะความที่ขาดสติ วันหนึ่งๆ หลงลืมสติมาก พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า  สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสติ ก็ต้องอบรม ต้องฟังบ่อยๆ เนืองๆ ฟังเรื่องเก่านี้แหละครับ ซ้ำบ่อยๆ เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฟังบ่อยๆ ไม่ต้องเบื่อ แล้วก็สติ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นได้


    หมายเลข 10188
    17 ก.ย. 2558