กล่าวธรรมีกถา - นิ่งแบบพระอริยะ


    เรณู   ดิฉันขอเรียนถามท่านอาจารย์ เมื่อพระภิกษุมาประชุมรวมกัน องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเธอมีกิจ ๒ อย่างที่จะต้องทำ คือว่าสนทนาธรรมกัน หรือว่านิ่งแบบพระอริยะ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ได้อธิบายนัยยะที่ลึกซึ้ง กราบเรียนเชิญค่ะ

    ส.   ชีวิตที่มีประโยชน์ คือ ชีวิตที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจในพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่าเวลาที่พบปะกัน ก็คือควรจะได้สนทนาธรรมะให้เกิดความรู้ความเข้าใจในพระธรรม หรือมิฉะนั้นก็ควรจะนั่งนิ่งแบบพระอริยะ

    พระอริยะ คือ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงความรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่กว่าที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้จะต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าการศึกษาทั้งหมดแม้แต่การเริ่มที่จะได้ฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็จะต้องเป็นการฟังตามลำดับ ไม่มีใครที่สามารถที่จะฟังแล้วเข้าใจแจ่มแจ้งได้ นอกจากผู้นั้นได้อบรมปัญญาบารมีระดับของท่านพระสารีบุตร เป็นต้น ที่ได้ฟังเพียงคำสั้นๆ  สามารถที่จะเข้าใจเนื้อความและก็เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้   เพราะฉะนั้น ในวันนี้ก็เป็นโอกาสที่ทุกท่านมีโอกาสที่จะได้ฟังธรรม ได้สนทนาธรรม เพื่อความเข้าใจพระธรรมที่รับฟัง หรือว่าได้อ่าน ได้ศึกษามาแล้ว การที่จะเป็นผู้ที่นั่งนิ่งอย่างพระอริยะก็ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาทำอย่างไรก็คงจะเป็นอย่างพระอริยบุคคลไม่ได้ เพราะเหตุว่าทุกคนก็นั่งมาแล้ว นิ่งมาแล้ว แต่ว่าไม่มีปัญญา แต่ปัญญาระดับขั้นที่เป็นพระอริยบุคคลได้ ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ จึงสามารถที่จะรู้ว่า ปัญญารู้อะไร ขณะไหน แล้วก็อบรมจนถึงขั้นที่สามารถถึงความเป็นพระอริยะได้อย่างไร

    เรณู   คิดว่าการบูชาคุณนั้นมี ๒ ประการ เท่าที่เราศึกษาได้เรียนรู้กัน คือ อามิสบูชา การให้วัตถุสิ่งของ แล้วก็การที่จะปฏิบัติบูชา ในเรื่องการปฏิบัติบูชา เท่าที่ความเข้าใจของดิฉัน แม้แต่การสนทนาธรรม หรือให้ธรรมะ ก็น่าจะเป็นการปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอคุณน้าธนิตได้แสดงในเรื่องของการปฏิบัติบูชาด้วย

    ธนิต   ถ้าเป็นความหมายของคำว่า ปฏิบัติ  ที่มาจากคำว่า ปฏิปัตติ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมะนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของสภาพจิตและเจตสิกกระทำกิจ แต่ตอนนี้เรามาพูดนัยยะความหมายของคำว่า ปฏิบัติ โดยที่เรายังไม่เข้าถึงในตัวธรรมะ หมายถึงว่า เมื่อรู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราจะต้องน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม

    นี่คือความหมายย่อๆ ว่า เมื่อรู้ว่าสิ่งใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ สิ่งใดดีหรือสิ่งใดไม่ดี เราจะต้องพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาของเราเอง เพราะว่าพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นเรื่องบังคับ หรือใช้ให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใด แต่เป็นเรื่องปัญญาเฉพาะตนที่เมื่อพิจารณาไตร่ตรองแล้วเห็นว่าถูกต้อง เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี เราก็ควรจะน้อมนำไปปฏิบัติ

    สมพร  เรื่องปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้าตรัสว่า การบูชา ๒ อย่าง คือ อามิสบูชา ๑  ปฏิปัตติบูชา ๑ ปฏิปัตติก็คือ ก็คือปฏิบัตินั่นเอง ๒ อย่างนี้คนมีปัญญามาก ส่วนมากก็จะต้องบูชาด้วยการปฏิบัติตาม ส่วนคนที่มีปัญญาน้อยไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ ก็ทำการบูชาด้วยสักการะ ด้วยอามิส ด้วยสิ่งของ เป็นอันว่าการบูชา มี ๒ อย่าง แต่ว่าพระองค์ตรัสว่าการบูชาทั้ง ๒ อย่างนี้ การปฏิบัติเป็นการบูชาอย่างยิ่ง เพราะว่าพระองค์บำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป เพื่อให้สัตว์นั้นออกจากวัฏฏทุกข์ ซึ่งมีแต่ความเดือดร้อน มีความยุ่ง มีความไม่สบายตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงว่า ปฏิปัตติบูชามีประโยชน์มหาศาลสามารถที่จะทำให้สัตว์นั้นออกจากวัฏฏะได้ เป็นอันว่าพวกเราก็ปฏิบัติบูชาอยู่แล้ว ขณะนี้การปฏิบัติบูชาก็จะต้องอาศัยปัญญา และอาศัยกัลยาณมิตรผู้เข้าใจ แนะธรรมะ ถ้ามิฉะนั้นเราก็เดินทางไม่ถูก นี่คือการบูชา ๒ อย่าง

    อดิศักดิ์   ผมขอขยายความตอนที่อาจารย์อธิบายไปเรื่องที่คุณเรณูถามตอนแรก เรื่องกิจ ๒ อย่างของภิกษุที่ประชุมกัน ก็คือ ๑ กล่าวธรรมมีกถา หรือเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ มันมีที่มาอย่างนี้ครับ ในขุททกนิกาย อุทาน ราชสูตร มีภิกษุสนทนาเรื่องเดรัจฉานกถา เขาถามถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระเจ้าพิมพิสารว่า ใครจะมีทรัพย์สินมากกว่ากัน ใครจะมีแว่นแคว้นมากกว่ากัน แล้วก็พระพุทธองค์เสด็จมา  ก็เป็นปกติจะถามว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านสนทนาอะไรกันอยู่ แล้วสิ่งที่ท่านสนทนาค้างอยู่คืออะไร ภิกษุก็กล่าวให้พระพุทธองค์ฟังว่า พูดถึงเรื่องพระราชา ๒ พระองค์ ใครมีทรัพย์สินมากกว่า ใครมีแว่นแคว้นมากกว่า พระพุทธองค์ก็บอกว่า นั่นเป็นเดรัจฉานกถา เพราะฉะนั้น พวกเธอถ้าประชุมแล้วก็ให้มี ๒ ประการคือ ธรรมมีกถา หรือนิ่งอย่างพระอริยะ เมื่อกี้ท่านอาจารย์สุจินต์ได้พูดถึงนิ่งอย่างพระอริยะ ก็คือการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง  คือการมีสภาพธรรมะตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ ในอรรถกถาใช้คำว่า พึงให้ธัมมกถาที่เกี่ยวด้วยอนิจลักษณะ เป็นต้น  ธัมมกถาที่เกี่ยวด้วยอนิจลักษณะ ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ไม่พ้นเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ท่านอาจารย์พร่ำสอนเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ส่วนคำที่ว่า ธัมมีกถา  ได้แก่ ถ้อยคำที่ไม่ปราศจากธรรม คือ สัจจะ ๔ ก็คือ อริยสัจ ๔ อธิบายว่า ธรรมเทศนาอธิบายอันแสดงถึงการเป็นไป ธรรมเทศนาอันแสดงถึงความเป็นไปก็คือ ทุกขสัจ และการไม่กลับ ก็ขยายความว่าคือ นิโรธสัจ นี่ท่านก็ยกตัวอย่างเรื่องทุกขสัจกับนิโรธสัจ ความเป็นไปกับความไม่เป็นไป ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ  พระพุทธองค์ทรงแสดงโดยอุกฤตถึงขั้นอรหันต์ แต่ที่อาจารย์มาพร่ำสอนเราอยู่นี้ ให้เราเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้แล้ว เราจะไม่มีทางที่จะไปถึงอริยสัจ ๔ ได้ หรือจะไปเห็นอนิจจลักษณะได้ อันนี้เป็นข้อความในอรรถกถาที่ขยายความไว้ เจริญธัมมิกถา หรือว่านิ่งอย่างพระอริยะ

    ส.   แต่คนเราก็มีโอกาสที่จะนิ่ง เพราะฉะนั้น เวลาที่ทุกคนนิ่ง ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตใจเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ถ้านิ่งอย่างพระอริยะ คือ ผู้ประเสริฐ หรือผู้บำเพ็ญอบรมเจริญปัญญาเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ขณะที่นิ่งนั้นคือขณะที่กำลังอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ  เพราะคนเราต้องมีนิ่ง มีนั่ง มีนอน มียืน มีเดิน มีพูด มีนิ่ง

    อดิศักดิ์   ก็ตรงกับข้อความในอรรถกถา  ชื่อว่า อริยะ เป็นผู้สูงสุดเพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ตรงกับที่ท่านอาจารย์พูด

    อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ทุติยฌานเป็นความนิ่งอย่างประเสริฐ เพราะเป็นปฏิปักต่อวจีสังขาร อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า จตุตฌานเป็นความนิ่งอย่างประเสริฐ ก็ในที่นี้อธิบายดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายพวกเธอมีกายสงัดอยู่ในสุญญาคารเพื่อพอกพูนจิตวิเวก ก็คือ ฌาน นั่นเอง ถ้าประชุมกันบางครั้ง ครั้นพวกเธอประชุมกันอย่างนี้ พึงให้ธัมมีกถาที่เกี่ยวด้วย อนิจลักษณะ เป็นต้น แห่งสภาวธรรม มีขันธ์ เป็นต้น เป็นไปโดยเป็นอุปการะแก่กันและกัน

    อันนี้จะต้องเป็นสติปัฏฐานแน่ เพราะเกี่ยวกับสภาวธรรม

    ส.   การอ่านหรือการศึกษาธรรมต้องเป็นความเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่าตามระดับขั้นของแต่ละบุคคลไม่ใช่ได้ฌานเสมอ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ฌานแล้วนิ่ง จะให้ทุติยฌานเกิดก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ถึงระดับขั้นนั้น เพราะฉะนั้น กำลังเป็นการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งแต่ละคนก็สามารถที่จะรู้การสะสมของตนเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่เมื่ออ่านข้อความนี้แล้วจะนิ่งอย่างพระอริยะได้ต่อเมื่อเป็นทุติยฌาน ก็ไม่ใช่ ก็ตามกำลังของปัญญาในขณะนั้น

    ธรรมะเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก การศึกษาต้องพิจารณาให้ตรงตามความเป็นจริง อย่างรอบคอบ แล้วก็จะทำให้ไม่สับสน ถ้าเพียงแต่ศึกษาตัวอักษร ก็จะเกิดความสงสัยว่า ถ้าคนที่ไม่ได้ฌานจิตถึงทุติยฌาน แล้วจะนิ่งแบบพระอริยะได้อย่างไร หรือแม้กระนั้น ขณะที่นิ่งอย่างนั้นก็ไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง ใครก็ตามที่ได้ถึงทุติยฌาน แล้วก็นิ่งอย่างทุติยฌาน แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ก็ออกจากสังสารวัฏไม่ได้ เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ แม้ว่าจะได้ถึงฌานขั้นสูงที่สุด คือ ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน

    สมพร  ธรรมะที่อบรม สำหรับพวกเราต้องเป็นธรรมะที่สัปปายกถา คือต่างจากภิกษุ ในสมัยก่อนนั้นภิกษุท่านตั้งอยู่ในที่เงียบสงัด ท่านเจริญสมถกรรมฐานส่วนมาก แล้วก็เจริญวิปัสสนากรรมฐาน  เรียกว่า สัปปายกถาสำหรับท่าน แต่สัปปายกถาของผู้ที่ไม่ได้ออกบวช ที่ครองเรือนอยู่นี้ ก็ต้องถือตามแนวที่ท่านอาจารย์เคยแนะนำว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะว่าสัปปายกถาอย่างนี้ สัปปายกถา แปลว่า กถาที่เหมาะสม สำหรับพวกเรา สำหรับพวกฆราวาสซึ่งหาที่สงัดไม่ได้ ไม่เหมือนภิกษุออกบวชแล้ว ไม่มีเรือน นั่นส่วนหนึ่ง แต่พวกเรานี้อยู่ในบ้าน จะต้องใช้สัปปายกถาที่เหมาะสมตามที่กล่าวนั้น


    หมายเลข 10124
    16 ก.ย. 2558